เปลี่ยนผ้าเบรคด้วยตัวเอง

บทความและแสดงโดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฏ์ jittik@mozart.inet.co.th
ถ่ายรูปมาประจานโดย คุณอนุรัตน์ ระยับพันธุ์ anuratr@hotmail.com


เบรคสำหรับล้อหน้า ของรถ Golf / Vento เป็นเบรคแบบจาน (Disk Break) ซึ่งเราสามารถรื้อด้วยตัวเอง เพื่อเอาออกมาเปลี่ยนผ้าเบรคชุดใหม่ ในยามที่ผ้าเบรคชุดที่ใช้งานอยู่ได้สึกหรอจนหมดแล้ว การรื้อทำได้ง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะเลย และการลงมือทำเบรคเอง พระท่านว่าเป็นกุศล Sure อย่างที่สุด ดังคำโบราณว่า ... อวิฑูรธรรมะ เบรขะจะมรณัง ... ซึ่งแปลว่า "ปล่อยให้ช่างชุ่ยๆ ทำเบรคอาจถึงตายได้ " เพราะเบรคเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างสำคัญ ไม่ควรปล่อยปละละเลยในทุกกรณี

อันดับแรกเมื่อพบว่าผ้าเบรคเหลือค่อนข้างบางแล้ว (ดูในเรื่อง "สัญญาณเตือนผ้าเบรคหมด") ก็ให้รีบไปซื้อผ้าเบรคชุดใหม่เตรียมเอาไว้ได้เลย อย่ามัวผลัดวันประกันพรุ่ง ปกติแล้ว ผ้าเบรคใหม่ 1 กล่อง จะมี 4 ชิ้น ใช้ได้สำหรับสองล้อ ล้อละ 2 ชิ้น มีหลายยี่ห้อและราคา ต้องเลือกรุ่นที่ใส่กันได้กับ Caliper ในรถของเรา ถ้ามีผ้าเบรคเก่าๆ เอาไปเทียบก็จะลดโอกาสในการซื้อผิดรุ่นจากร้านค้าที่ไม่ชำนาญอะหลั่ยรถ VW เมื่อได้ผ้าเบรคชุดใหม่แล้ว ก่อนลงมือเปลี่ยนควรจะวัดความหนาของเนื้อผ้าเบรค และความหนาของแผ่นเหล็กรองด้านหลัง (Backing Plate) เป็นมิลลิเมตร แล้วจดเอาไว้ เผื่อว่าวันข้างหน้าเวลาตรวจสอบความหนาของผ้าเบรค จะได้สะดวกหน่อย โดยเล็งดูว่าเนื้อผ้าเบรคเหลืออยู่หนาเป็นกี่เท่าของ Backing Plate ก็จะประมาณความหนาคงเหลือของผ้าเบรคได้ละเอียดเป็น มิลลิเมตร ทีเดียว

จากนั้นก็หาที่ทางเหมาะๆ เอารถขึ้นแท่นถอดล้อ เพื่อความปลอดภัยควรจะวางรถบนแท่นสามขา กันชะตาขาดแม่แรงล้มโดยอุบัติเหตุ จัดการถอดล้อ และรื้อชุด Caliper ตามขั้นตอนในภาพประกอบ ในระหว่างนี้จะมีฝุ่นผงของผ้าเบรคเดิมเลอะเทอะไปหมด ลักษณะคล้ายผงยานัตถุ์ แต่มีอานุภาพทะลุทะลวงทำลายสุขภาพ จึงควรใส่ถุงมือ และระวังอย่าให้เข้าจมูกเข้าตา เมื่อถอดผ้าเบรคชุดเดิมออกมาได้แล้ว ก่อนใส่ผ้าเบรคชุดใหม่ให้ตรวจสอบปลอกยางหุ้มลูกสูบดันผ้าเบรค และปลอกยางหุ้มแกนเลื่อน Caliper ด้วยว่ามีอาการแห้ง กรอบ และชำรุดฉีกขาดหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าว ก็ควรไปซื้ออะหลั่ยมาเปลี่ยน เพราะปลอกยางดังกล่าวเป็นตัวกันฝุ่นความชื้น และสิ่งสกปรกไม่ให้เล็ดรอดเข้าไปในกลไกภายใน ขืนปล่อยให้ขาดเอาไว้นานๆ เมื่อฝุ่นเข้าไปสะสมมากๆ ลูกสูบดันผ้าเบรคหรือ Caliper ตัวที่ขยับเลื่อนได้ ก็อาจจะฝืด หรือ ติดขัด ทำให้เบรคค้าง หรือกินผ้าเบรคด้านนอกและด้านในจานเบรค ไม่เท่ากันก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอีกบางชนิด คล้ายๆ ครีมบำรุงผิว สำหรับทาด้านหลัง Backing Plate ของผ้าเบรคชุดใหม่ ก่อนที่จะใส่เข้าไปใน Caliper ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะเป็นแผ่นยางทนความร้อนยืดหยุ่นตัวได้ ทำให้ลดเสียงโหยหวนอันเกิดจากการสั่นกระทบกันระหว่าง Backing Plate กับ Caliper เวลาลงเบรคแรงๆ หรือเวลาที่สปริงดันโครงผ้าเบรค ได้ล้าตัวหลังจากการใช้งานผ้าเบรคชุดนั้นไปพอสมควรแล้ว
เมื่อใส่ผ้าเบรคชุดใหม่และประกอบกลับเข้าที่ อย่าเพิ่งรีบล้างมือแล้วไปนอนพัก คุณปู ได้เตือนด้วยความหวังดีแกมเจ็บใจ (หลังจากซ่อมท้าย Golf Varient) ว่า จะต้องย้ำเบรคหลายๆ ครั้งจนตึงเท้า เพื่อจัดระยะลูกสูบดันผ้าเบรค และระยะขยับตัวของ Caliper ให้อยู่ในตำแหน่งพร้อมใช้งานทันที อย่าชักช้าเดี๋ยวจะลืม มิฉะนั้นหากใครไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คว้ากุญแจติดเครื่องขับไปธุระที่ไหน แล้วอาจจะต้องมีธุระเพิ่มที่อู่ซ่อมสีและตัวถังก็เป็นได้

Step-by-Step
ก่อนลงมือทำ ให้สำรวจดูเครื่องมือของเราเสียก่อนว่ามีครบหรือเปล่า เผื่อว่าอันไหนไม่มีจะได้ขอยืมเพื่อนสมาชิกในชมรมได้ถูก

  1. แม่แรงยกรถ ถ้าเป็นมือใหม่ยังไม่ได้ซื้อแม่แรง จะใช้แม่แรงติดรถไปก่อนก็ได้
  2. สามขาค้ำยัน
  3. ประแจขันน๊อตล้อ
  4. ประแจเบอร์ 13 จะเป็นประแจบล๊อก, ประแจปากตาย, ประแจแหวน หรือถ้าหาไม่ได้จะใช้ประแจเลื่อนก็ไม่ผิดกติกา
  5. ประแจเบอร์ 15 ควรเป็นประแจปากตายจึงจะเหมาะเพราะเราจะใช้สอดเข้าข้างๆเพื่อล๊อกน๊อตขณะถอด Caliper
  1. คลายน๊อตล้อออกหลวมๆ ด้วยเครื่องมือติดเราที่เรามี ก่อนที่เราจะยกรถขึ้น
  1. จากนั้นใช้แม่แรงยกรถขึ้น ถ้าเป็นแม่แรงตะเข้ ชนิดที่ตามอู่ หรือร้านทำช่วงล่างทั่วไปใช้ ก็ดีหน่อย สามารถสอดเข้าทางด้านหน้ารถ แล้วใช้สามขาค้ำได้เลย  ที่เห็นในภาพเป็นแม่แรงขนาดเล็กชนิดน้องตะเข้ ที่เราเรียกกันว่า "ตะกวด" มีระยะยกไม่สูงนัก เราจึงสอดแล้วยกเพื่อทำทีละข้าง แล้วใช้สามขายันไว้
  1. เมื่อถอดล้อแล้ว ควรสอดล้อไว้ใต้ท้องรถตามรูป เพื่อป้องกันในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หากว่าแม่แรงหรือสามขาที่กำลังค้ำยันอยู่เกิดรถยุบโดยไม่คาดคิด ยังมีล้อตัวนี้คอยกันไว้อีกต่อหนึ่ง
  1. ในภาพเป็นผ้าเบรคที่ความหนาเหลือน้อยเต็มที (สังเกตุความหนาในส่วนที่แนบกับจานตามลูกศรชี้)
  1. เริ่มปฏิบัติการถอดน๊อตยึด Caliper ส่วนล่าง โดยใช้ประแจ 2 ขนาดคือ
    - ประแจเบอร์ 13 สำหรับขันหัวน๊อต
    - ประแจเบอร์ 15 สำหรับยึดน๊อตตัวในไม่ให้หมุนตาม (ในรูปคือประแจตัวล่าง)
  1. คลายน๊อตยึด Caliper บน ด้วยประแจชุดเดิม สำหรับส่วนบนนี้เราคลายให้ Caliper ขยับได้ก็พอ ไม่ต้องถอดให้ตัวน๊อตหลุดออกมา
  1. เมื่อคลายน๊อตตัวบนเสร็จ เราก็สามารถขยับก้ามปูออกมาได้ ในรูปที่เห็นเราได้ถอดผ้าเบรคเก่าออกไปแล้ว เหลือแต่จานล่อนจ้อน
  1. ถอดแผ่นสปริงดันโครงผ้าเบรค ที่หน้าตาเป็นสามแฉกออกจากกระบอกเบรค แล้วใช้คีมปากกว้างๆ บีบกระบอกให้กลับเข้าไปจนสุด (ควรเลือกใช้คีมที่ปรับขนาดได้ จะช่วยให้ทำงานสะดวกมากขึ้น) เหตุผลที่ต้องบีบกระบอกเบรคเข้า ก็เพราะเมื่อเราใช้รถไปนานๆ จนผ้าเบรคบางลง กระบอกเบรคก็จะกดเข้ามา เพื่อให้ระยะห่างระหว่างผ้าเบรคกับจานเบรคคงที่ตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่งก็คือถ้าไม่บีบให้กระบอกยุบตัวเข้าไป เวลาเราใส่ผ้าเบรคตัวใหม่ จะไม่สามารถครอบก้ามปูกลับที่เดิมได้
  1. ไม่ต้องตกใจถ้าเห็นระดับน้ำมันเบรคสูงขึ้น เมื่อเราบีบกระบอกเบรคเข้า จะทำให้น้ำมันเบรคถูกไล่กลับไปยังกระปุก

    มีข้อควรระวังสำหรับบางท่าน ที่เคยไปเติมน้ำมันเบรคเพิ่มเพื่อลดระยะการเหยีบเบรค ให้ผู้ช่วยอีกคนสังเกตุว่าน้ำมันล้นออกนอกกระปุกหรือเปล่า ในขณะที่คุณกำลังบีบกระบอกเบรค ถ้าเห็นว่าจะล้นให้ใช้ Syringe (กระบอกเข็มฉีดยา) ดูดออกฒ
  1. จัดแจงใส่ผ้าเบรคใหม่ลงไป ตามรูป อย่าลืมใส่แผ่นสปริงดันโครงผ้าเบรคกลับเข้าที่กระบอกเบรคให้เรียบร้อยด้วย
  1. ก่อนปิดก้ามปูเบรค ให้จัดสปริงผ้าเบรคให้เข้าที่ เสร็จแล้วให้ใส่น๊อตยึดตัวล่าง ขันให้เรียบร้อย ขันน๊อตยึดก้ามปูตัวบน  อย่าลืมกวดน๊อตทั้งสองให้แน่น ใส่ล้อกลับที่เดิม
  1. ข้อนี้สำคัญมากครับ เมื่อตอนที่เราบีบกระบอกเบรคนั้น ระยะห่างของผ้าเบรคกับจานจะมากกว่าปกติ ก่อนที่คุณจะลองขับรถไปไหน ให้ติดเครื่องยนต์แล้วย้ำเบรคสัก 3 - 4 หน ครั้งแรกๆจะรู้สึกว่าเหยียบจม เมื่อกระบอกเบรคกดแนบดีกับผ้าเบรคและประชิดจานแล้ว คุณจะรู้สึกได้ทันทีว่าการเหยียบนั้นเป็นปกติ