เปลี่ยนพัดลมไฟฟ้า

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฎ์ jittik@mozart.inet.co.th

เมื่อเปิดฝากระโปรงห้องเครื่องของ กอล์ฟ/เวนโต้ แล้วยืนมองเข้าไปจากด้านหน้ารถ ก็จะพบใบพัดลม 2 ชุดอยู่หลังหม้อน้ำ ซึ่งมันเป็นอุปกรณ์หลักในการดูดลมจากภายนอก ให้เป่าผ่านแผงระบายความร้อนของระบบปรับอากาศ ( ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า คอนเด็นเซอร์แอร์ ) และเป่าผ่านหม้อน้ำเข้ามาในห้องเครื่อง เพื่อเป็นการระบายเอาความร้อน ทิ้งออกไปจากระบบ หากสังเกตุดีๆ ก็จะพบว่าเฉพาะใบพัดชุดด้านขวาเท่านั้น ที่มีมอเตอร์ติดอยู่ ส่วนชุดด้านซ้ายเป็นใบพัดเปล่าๆ แต่มีสายพานขนาดก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก คล้องเอาไว้กับแกนของใบพัดชุดด้านขวา เมื่อมอเตอร์หมุน นอกจากจะทำให้ใบพัดชุดด้านขวาหมุนแล้ว มันก็ยังจะฉุดให้ใบพัดชุดด้านซ้ายหมุนตามไปด้วย 
มอเตอร์ของพัดลมชุดด้านขวาจะทำงาน 2 จังหวะ สั่งการผ่านสายไฟที่เสียบก้นมอเตอร์ ซึ่งถ้าลองดึงออกมาดูจะเห็นว่ามีสามขั้ว จังหวะที่ 1 จะหมุนที่ความเร็วรอบปกติ ส่วนจังหวะที่ 2 จะหมุนเร็วจี๋ เกือบสองเท่าของจังหวะที่ 1 ทำให้เกิดเสียงดังมากจนบางครั้งเวลารถติดไฟแดง มอเตอร์ไซค์ขวัญอ่อนที่จอดติดอยู่ข้างๆ ถึงกับทำท่าตกใจ 

อุปกรณ์ที่จะสั่งให้มอเตอร์พัดลมไฟฟ้าไม่หมุนหรือหมุนในจังหวะใดนั้น มีดังต่อไปนี้ 

1.) สวิทช์หม้อน้ำ หากยืนหันหน้าเข้าห้องเครื่อง สวิทช์นี้จะอยู่ที่มุมบนขวาของหม้อน้ำ มีขั้วสายไฟที่เป็นเส้นเดียวกันกับที่จะต่อไปยังก้นมอเตอร์ เสียบครอบเอาไว้ หากลองดึงออกมาดูก็จะพบว่ามี 3 ขั้วเช่นเดียวกัน ให้จำขั้วสายไฟที่ตำแหน่งสวิทช์หม้อน้ำนี้ไว้ดีๆ เพราะเราจะใช้มันเป็นจุดทดสอบการทำงานของมอเตอร์พัดลม ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่ามันชำรุดแล้วหรือไม่ สำหรับหน้าที่การทำงานของสวิทช์หม้อน้ำก็คือ มันจะโผล่หัวเข้าไปวัดอุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำระบายความร้อน เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียสมันจะปิดพัดลม เมื่ออุณหภูมิสูงถึง 70 องศาเซลเซียส มันก็จะสั่งเปิดพัดลมในจังหวะ 1 แต่ถ้าอุณหภูมิยังสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อีกจนเกิน 90 องศาเซลเซียส มันก็จะสั่งเปิดพัดลมในจังหวะ 2 

2.) สวิทช์แรงดันน้ำยาของระบบปรับอากาศ สวิทช์อันนี้จะเสียบติดอยู่กับกรองไดรเออร์ ซึ่งจะหายากหน่อยเพราะกรองไดรเออร์มันหลบอยู่ในกันชนหน้าค่อนออกมาทางด้านซ้าย (มองจากด้านหน้าเข้าหาตัวรถ) ต้องถอดกันชนออกมาก่อนจึงจะเห็นได้ชัด สวิทช์อันนี้มีสายไฟเสียบครอบไว้คล้ายๆ กับสวิทช์หม้อน้ำ หน้าที่การทำงานของมันก็คือ มันจะโผล่หัวเข้าไปในกระปุกไดรเออร์เพื่อวัดแรงดัน เมื่อแรงดันน้ำยาของระบบปรับอากาศต่ำกว่า 12.5 บาร์ มันจะปิดพัดลม เมื่อแรงดันน้ำยาสูงถึง 12.5 บาร์ มันจะเปิดพัดลมจังหวะ 1 แต่เมื่อแรงดันน้ำยายังสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 16 บาร์ มันจะเปิดพัดลมจังหวะ 2
 
จะเห็นได้ว่าสวิทช์หม้อน้ำ และสวิทช์แรงดันน้ำยาแอร์ คอยเจ้ากี้เจ้าการเปิดปิดพัดลมให้ในจังหวะต่างๆ ซึ่งถ้าหากพัดลมและสวิทช์ทั้งสองตัวนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ระบบมันก็จะรักษาอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นได้คงที่ ไม่ Over Heat ในขณะที่แรงดันน้ำยาแอร์ก็จะอยู่ในช่วงเหมาะสม ทำให้แอร์เย็นฉ่ำ ไม่ว่ารถจะวิ่งช้า ๆ ติดเป็นตังเม อยู่ในเมือง หรือควบด้วยความเร็วสูงอยู่บน Highway (ในกรณีหลังนี้จะมีกระแสลมจากภายนอกช่วยเป่าเข้าจากด้านหน้ารถ) ทั้งหมดนี้จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เจ้าของไม่ต้องไปยุ่งแต่อย่างใด 
แต่โชคไม่ดีที่มอเตอร์พัดลมนั้นมีอายุการใช้งาน กล่าวคือมอเตอร์อันใหม่ๆ นั้นมันจะหมุนแรง ดูดลม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะ 2) มีเสียงดังอย่างกับกังหันอัดอากาศของเครื่องยนต์ Gas Turbine ที่ใช้ในเครื่องบิน 737-400 ลำที่นายกทักษิณขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ทัน แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ นานเข้าๆ เรี่ยวแรงมันก็อ่อนล้าลงเหมือนคนแก่ จนเมื่อถึงอายุขัย มันก็ขาดใจไม่หมุนเอาเสียดื้อๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเปลี่ยนพัดลมอันใหม่ เพราะมอเตอร์ตัวนี้เป็นกำลังหลักแต่เพียงอย่างเดียวในการดูดลมระบายความร้อน ห้ามชำรุดเสียหายเด็ดขาด และที่โชคไม่ดียิ่งไปกว่านั้นก็คือการถอดเอาพัดลมอันเก่าออกมา เพื่อที่จะเปลี่ยนใส่พัดลมอันใหม่นั้น มันช่างยากลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ (อ่านไปเรื่อยๆ แล้วจะตกใจเอง) ส่วนอายุขัยของพัดลมนั้นก็เป็นที่น่าสงสัยมาก ตัวอย่างเช่นของติดรถคุณอนุรัตน์วิ่งมาตั้ง 190,000 กม. แล้วยังเฉยๆ ส่วนของติดรถผม ตัวแรกขาดใจไปที่ 92,000 กม. พอเปลี่ยนเป็นตัวที่สอง กะว่าจะใช้แบบสบายๆ ไปสักอีกอย่างน้อย 80,000 กม. พอเอาเข้าจริงแค่ 25,000 กม. ก็มาบอกศาลากันเสียแล้ว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตัวที่สาม ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปได้เท่ากับตัวแรกหรือตัวที่สอง 
ขั้นตอนการถอดเปลี่ยนพัดลมที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เจตนาเพียงเพื่อให้เห็นภาพโดยรวมว่า การถอดเปลี่ยนพัดลมนั้นเราจะต้องผจญกรรมอะไรบ้าง ในกรณีที่ไม่ได้ลงมือเองก็จะได้ทำใจไว้ก่อนและจะได้เข้าใจว่าช่างกำลังทำอะไร ในกรณีที่ใจถึงอยากทำเอง ก็จะได้เตรียมกำลังพลเอาไว้คอยช่วยเหลือ ตลอดจนเครื่องมือ และอุปกรณ์ ให้พอเพียง 

อุปสรรคประการสำคัญในการถอดเปลี่ยนพัดลมสำหรับรถ กอล์ฟ/เวนโต้ รุ่นนี้ก็คือ มันถูกออกแบบขายึดมอเตอร์เอาไว้เพื่อให้ถอดพัดลมออกได้จากด้านหน้าเท่านั้น จะด้วยเหตุผลอะไรผมก็จนด้วยเกล้าเหมือนกัน นี่ถ้าใครหาทางดัดแปลงขายึดมอเตอร์ให้สามารถถอดออกได้จากด้านหลัง ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาซ่อมรถ VW ติดกันถึง 2 งวดซ้อน เพราะมันจะทำให้กลายเป็นงานง่าย ชนิดที่โน้ตกับตูนบอกว่าเป็นเรื่องสิวๆ แต่เอาละ เมื่อฝรั่งมันทำชุ่ยมาอย่างนี้ ช่าง DIY อย่างหมู่เฮาถึงกับจะซ่อมไม่ได้เลยก็ให้มันรู้ไป 

ความที่พัดลมจะต้องดูดลมผ่านหม้อน้ำและคอนเด็นเซอร์แอร์ ทำให้หม้อน้ำและคอนเด็นเซอร์แอร์มันจะต้องวางเรียงซ้อนกัน บังอยู่หน้ากระโจมของใบพัดลม โดยถ้ามองจากกระจังหน้ารถเข้าไป เราจะเห็นคอนเด็นเซอร์แอร์ก่อนชั้นหนึ่ง จากนั้นถัดเข้าไปจึงเป็นหม้อน้ำ แล้วจึงจะถึงกระโจมของใบพัดลม ในหนังสือคู่มือซ่อมรถของ Bentley ถึงกับแนะนำว่าให้ถอดแผงคอนเด็นเซอร์แอร์ และหม้อน้ำออกก่อน แล้วค่อยถอดพัดลม แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือถ้าจะถอดแผงคอนเด็นเซอร์แอร์ ก็จะต้องถ่ายน้ำยาแอร์ออกมาทั้งหมด ซึ่งการเติมกลับเข้าไปจะต้องทำที่ร้านซ่อมแอร ์และเสียค่าใช้จ่ายหลายตังค์ (เรียกว่าซ่อมพัดลมแถมซ่อมแอร์ฟรี) มิหนำซ้ำการที่อยู่ดีๆ แล้วจะต้องไปซ่อมแอร์นั้น ก็อาจจะติดโรคอะไรให้ต้องซ่อมอย่างอื่นๆ แถมมาอีกก็เป็นได้ สำหรับการถอดหม้อน้ำนั้น ต้องถ่ายน้ำยาหล่อเย็นออกมาบางส่วน แต่อันนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะเราเติมกลับได้เองง่ายๆ ราคาไม่กี่ตังค์ 

ดังนั้นเราจึงวางแผนที่จะถอดเฉพาะหม้อน้ำ และยอมถ่ายน้ำยาหล่อเย็นบางส่วน จากนั้นเราจะหาทางขยับให้แผงคอนเด็นเซอร์แอร์ อ้าออกมาทางด้านหน้ารถ เพื่อสร้างช่องทางสวรรค์ เนื่องจากท่อน้ำยาแอร์เส้นบน ซึ่งต่อจากระบบมายังคอนเดนเซอร์เป็นสายอ่อน พอที่จะให้ตัวได้บ้าง เมื่อแผงคอนเด็นเซอร์แอร์ อ้าออกมาจากกระโจมใบพัดลมจนเป็นช่องกว้างพอ เราก็จะถอดมอเตอร์พัดลมพร้อมใบพัด แล้วล้วงออกมาทางด้านล่างโดยผ่านช่องทางสวรรค์นี้ จากนั้นก็เอามอเตอร์พัดลมตัวใหม่ยัดกลับเข้าไปติดตั้งด้วยวิธีเดียวกัน ตามขั้นตอนคร่าวๆ ดังต่อไปนี้ 

  1. ถอดกระจังหน้าด้วยไขควงปากแบนอันเล็กๆ ปลดคลิปล็อค 
  2. ถอดชุดไฟเลี้ยวในกันชน พร้อมแผงสะท้อนแสง ถอดหลอดออกมาเก็บ กันแตก
  3. ถอดกันชน ซึงยึดกับคานหน้าด้วยสกรูว์เบอร์ 10 และยึดกับซุ้มล้อหน้าด้วยหมุดพลาสติค ข้างละ 2 ตัว ถ้าไม่เคยถอดเลย อาจต้องใช้ผู้ช่วย ช่วยกันอุ้มออกมา 
  4. ถอดโคมไฟหน้าทั้งสองข้าง ซึ่งยึดด้วยสกรูว์เบอร์ 8 ข้างละ 4 ตัว 
  5. ถอดแผงหิ้วคานหน้า ซึ่งเกี่ยวเอาไว้กับช่องล็อคฝากระโปรงด้านบนห้องเครื่อง 
  6. ถอดคานหน้า 

    มาถึงขั้นนี้ ด้านหน้ารถจะเปลือยเปล่าและเราจะมองเห็นแผงไฟเบอร์กลาสที่ใช้หิ้วชุดกระโจมลม หม้อน้ำ และคอนเด็นเซอร์แอร์ ซึ่งโดยปกติมันจะยึดติดกับคานหน้าและมีความแข็งแรงในตัวเอง แต่ในสภาพที่คานหน้าถูกถอดออกไปก่อนแล้ว แผงนี้จะให้ตัวเด้งดึ๋งๆ ได้เล็กน้อย จากนั้นเราจะเริ่มถอดส่วนประกอบในกระโจมลมและคลายน็อตที่ยึดมอเตอร์พัดลมให้หลวมเตรียมเอาไว้ก่อน 
  7.  ถอดสลักพลาสติคของแผ่นปิดกระโจมลมด้านหน้าใบพัด ซึ่งเป็นหมุดพลาสติค และคลายน็อตยึดมอเตอร์พัดลมพร้อมปลดสายออกจากก้นพัดลม 
  8. ถอดสกรูว์ยึดแผงคอนเด็นเซอร์แอร์ และให้สังเกตุท่อที่วิ่งเข้ามาเสียบ ซึ่งจะมี 2 ท่อที่มุมขวาบน เป็นสายอ่อน และมุมซ้ายล่าง เป็นท่อแข็ง ไปที่กรองไดรเออร์ แต่ท่อที่ต่อออกไปจากกรองไดรเออร์อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นสายอ่อน ให้ถอดน็อตยึดกรองไดรเออร์ออกจากขายึด เพื่อให้ขยับตัวไปได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับแผงคอนเด็นเซอร์หากมีการเคลื่อนไหว 
  9. เลื่อยแผงไฟเบอร์ที่มุมล่างซ้าย ในตำแหน่งที่ท่อแข็งซึ่งจะต่อเข้ากรองไดรเออร์สอดทะลุออกมา ให้ขาดออกทางด้านล่าง กว้างประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้โยกท่อหลบออกมาทางด้านล่างได้ และเลื่อยแผงไฟเบอร์ที่มุมขวาบนในตำแหน่งที่ท่ออ่อนสอดทะลุออกมา ให้ขาดเป็นช่องยาวออกมาทางซ้ายประมาณ 2 นิ้ว และให้กว้างเท่ากับช่องเดิม
  10. จากนั้นให้ทดลองค่อยๆ ขยับแผงคอนเด็นเซอร์และกรองไดรเออร์โดยโยกให้ท่อแข็งหลบออกมาทางด้านล่างของแผงไฟเบอร์ และให้ท่ออ่อนมุมบนขวา เลื่อนตามออกมาทางด้านซ้ายในช่องที่เลื่อยเพิ่ม หากทำได้สำเร็จ จะได้พื้นที่ด้านล่างหลังแผงคอนเด็นเซอร์กว้างออกมาประมาณ 5 นิ้ว เปรียบประดุจช่องทางสวรรค์ 
  11. ถอดท่อน้ำเส้นบนและล่างของหม้อน้ำ ซึ่งเป็นแหวนรัดสปริง ใช้คีมบีบคลายล็อคแล้วค่อยๆ รูดท่อยางออกมา ( ค่อนข้างยาก เพราะพื้นที่ทำงานจำกัด ) เมื่อถอดออกมาได้ ก็จะมีน้ำยาหล่อเย็นไหลออกมาเลอะเทอะประมาณ 2 ลิตร 
  12. ถอดสกรูว์ยึดหม้อน้ำ จากนั้นหม้อน้ำก็จะเป็นอิสระจากโครงไฟเบอร์กลาส ให้ใช้ผู้ช่วยง้างแผงคอนเด็นเซอร์แอร์เอาไว้เหมือนขั้นตอนที่ 10 แล้วล้วงเอาหม้อน้ำผ่านช่องทางสวรรค์ออกมาจากด้านล่าง 
  13. ปลดสายพานก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก แล้วจึงถอดแผ่นปิดกระโจมลมด้านหน้าใบพัด แล้วล้วงผ่านช่องทางสวรรค์ออกมาจากด้านล่าง 
  14. ถอดมอเตอร์พัดลมออกจากขายึดด้านหลัง ซึ่งได้คลายเกลียวเอาไว้รอแล้ว และเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 12 คือต้องให้ผู้ช่วยง้างแผงคอนเด็นเซอร์แอร์เอาไว้ แล้วล้วงมอเตอร์พัดลมพร้อมใบพัดผ่านช่องทางสวรรค์ออกมาจากด้านล่าง ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ท่านก็จะทราบซึ้งถึงความรู้สึกของสัตว์แพทย์ ที่ช่วยทำคลอดลูกวัวซึ่งทารกคลอดในท่าผลาดแผลง 

    มาถึงขั้นนี้แล้ว ถ้าเหนื่อยก็แนะนำให้พักไปกินข้าวผัด ใส่ไข่ดาวทอดกรอบๆ ตบท้ายด้วยโอเลี้ยงสักแก้วแล้วค่อยกลับมาผจญกรรมกันต่อ ขั้นตอนที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบกลับ ซึ่งถ้าหากมีเวลาก็ควรล้างทำความสะอาดชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครีบระบายความร้อนของหม้อน้ำ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่สามารถถอดออกมาทำได้อย่างสะดวกนอกตัวรถ
  15. เอาพัดลมตัวใหม่ประกอบกลับผ่านช่องทางสวรรค์เข้าไป ย้อนรอยขั้นตอนที่ 14 พร้อมกับยึดน็อตที่ขามอเตอร์ให้แน่นหนา 
  16. คล้องสายพานก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก และประกอบแผ่นปิดกระโจมลม ย้อนรอยขั้นตอนที่ 13 และขั้นตอนที่ 7 จากนั้นก่อนประกอบชิ้นส่วนที่เหลือ ให้ทดลองว่าพัดลมตัวใหม่ทำงานได้ดีหรือไม่ โดยการเสียบขั้วสายไฟที่ก้นมอเตอร์ แล้วจั๊มพ์ขั้วสายที่ 1 กับ 3 ของสวิทช์หม้อน้ำ ซึ่งพัดลมตัวใหม่มันควรจะทำงานอย่างขยันขันแข็ง ในจังหวะ 1 และถ้าจะทดลองในจังหวะ 2 ก็ให้จั๊มพ์ขั้วที่ 2 กับ 3 ของขั้วสายสวิทช์หม้อน้ำ ถ้าจะให้แน่ใจยิ่งขึ้น ก็ให้ถอดขั้วสายจาก สวิทช์แรงดันน้ำยาของระบบปรับอากาศ ที่เสียบติดกับกรองไดรเออร์ แล้วเอามาจั๊มพ์ขั้วที่ 1 กับ 3 ในจังหวะ 1 และขั้วที่ 2 กับ 4 ในจังหวะ 2 ซึ่งหวังว่าคงจะไม่มีปัญหานะครับ 
  17. ประกอบชุดหม้อน้ำ ย้อนรอยขั้นตอนที่ 12 และ 11 
  18. ขยับแผงคอนเดนเซอร์แอร์เข้าที่เดิมและยึดให้แน่น พร้อมกับยึดกรองไดรเออร์เข้ากับขายึด เป็นการปิดผนึกช่องทางสวรรค์ (หวังว่าคงจะไม่ต้องเปิดกันบ่อยๆ นะ สงสารเถอะ) เป็นการย้อนรอยขั้นตอนที่ 10 , 9 และ 8 
  19. ส่วนการย้อนรอยขั้นตอนที่ 6 , 5 , 4 , 3 , 2 และ 1 นั้น ถือว่าเป็นเรื่องหมูมาก เมื่อเทียบกับการรื้อออกมา จะมี Trick เล็กน้อยตอนประกอบคานหน้า ที่จะต้องร้อยสกรูว์หลวมๆ ให้ครบทุกตัวก่อนแล้วค่อยๆ ขยับหาตำแหน่งที่เหมาะสม จึงจะสามารถขันแน่นทุกตัวได้โดยไม่ติดขัด